แม้กาพย์แห่ชมเครื่องคาวหวาน (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2) จะมีบรรยายถึงบัวลอยไว้ว่า
“บัวลอยเล่ห์บัวงาม คิดบัวกามแก้วกับตนปลั่งเปล่งเคร่งยุคล สถนนุชดุจประทุม”
แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ผมเองกระจ่างได้ถึงประวัติที่มาของบัวลอยได้มากนัก
จะมีก็แต่ร่องรอยที่บ่งบอกถึงการเดินทางอันยาวนานก็เท่านั้น
ส่วนประกอบหลักของบัวลอยมีเพียง 3 อย่างอันได้แก่ แป้ง กะทิและน้ำตาล
แต่สิ่งที่ทำให้บัวลอยสามารถโดดเด่น มีมิติ และมีเสน่ห์
ก็เห็นจะเป็นบรรดากลิ่นหอมต่างๆ ที่ภูมิปัญญาไทยสามารถสอดแทรกเข้าไปอยู่ในตัวขนมได้
ไม่ว่าดอกมะลิ ใบเตย หรือควันเทียน
แป้งที่ใช้ทำบัวลอยนั้นคือ แป้งข้าวเหนียว ซึ่งก็เป็นแป้งที่มีอยู่ในหลายๆ วัฒนธรรมอาหาร
ในขณะที่ปั้นบัวลอย หยอดลงไปในน้ำเดือด เพื่อคอยให้ลอยขึ้นมาดั่งชื่อ
ใจก็อดคิดไปถึงแป้งโมจิของญี่ปุ่นไม่ได้ โมจิเองก็มีส่วนประกอบของแป้งข้าวเหนียวเหมือนกัน
และเมื่อคิดไปถึงขนมในตระกลูเดียวกับโมจิที่มีชื่อเรียกว่า ดังโงะ ที่ดูเผินๆ อาจจะดูเหมือนลูกชิ้นปลาย่าง
แต่แท้จริงแล้วนั้น เป็นแป้งโมจิเหนียวนุ่มย่างจนหอมแล้วทานกับซอสตามต้องการ
………………………………….
บัวลอยงาดำ
• งาดำ 45 กรัม
• แป้งข้าวเหนียว 90 กรัม
• น้ำตาลไอซิ่ง 15 กรัม
บัวลอยฟักทอง
• ฟักทองนึ่งสุก
• แป้งข้าวเหนียว
บัวลอยแครอท
• น้ำแครอท
• แป้งข้าวเหนียว
ซอสน้ำเชื่อมกะทิ
• น้ำตาลปี๊บ 150 กรัม
• กะทิ 200 มิลลิลิตร
• เกลือ 1 ช้อนชา
• แป้งข้าวโพด 1 ½ ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. ทำแป้งบัวลอยงาดำ โดยนำส่วนประกอบทุกอย่างปั่นให้เข้ากัน แล้วนำไปนวดกับน้ำสะอาดประมาณ 5 ช้อนโต๊ะ หรือจนได้ส่วนผสมที่จับตัวกันได้ดี
สามารถปั้นได้ และไม่แข็งเกินไป พักไว้
2. ทำแป้งบัวลอยฟักทอง โดยบดฟักทองนึ่งให้ละเอียด ค่อยๆ ใส่แป้งลงไปทีละน้อย จนแป้งจับตัวกันได้ดี สามารถปั้นได้และไม่แข็งเกินไป
3. ทำแป้งบัวลอยแครอท โดยนำน้ำแครอทผสมกับแป้งข้าวเหนียว โดยใส่แป้งทีละนิด ถ้าแป้งจับตัวจน สามารถปั้นได้และไม่แข็งเกินไป เป็นอันใช้ได้
4. ปั้นตัวแป้งทั้งสามเป็นเม็ดใหญ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ½ เซนติเมตร
5. ต้มน้ำพอเดือดใส่แป้งลงไปต้มให้สุกดี ตักแป้งออกมาแช่น้ำเย็นจัดเพื่อหยุดความร้อนนำบัวลอยเสียบไม้แล้วนำไปย่างบนกระทะ
6. ทำน้ำเชื่อมกะทิโดยต้มน้ำตาลปี๊บกับกะทิปรุงรสด้วยเกลือพอเข้ากันดีแล้วก็ให้ละลายแป้งข้าวโพดกับน้ำเล็กน้อยแล้วหยอดลงในน้ำเชื่อม
คนให้ข้นขึ้นแล้วจึงยกออกจากความร้อน
7. ทาน้ำเชื่อมกะทิข้นๆ บนบัวลอยย่างรับประทานร้อนๆ